ยอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ (cookie) เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานและเพิ่มความพึงพอใจต่อการได้รับการเสนอข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตามนโยบายคุกกี้ของเรา

รายละเอียดเพิ่มเติม

เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2556  พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เสด็จไปยังสำนักงานใหญ่สหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ทรงร่วมการอภิปรายเรื่อง มาตรการต่อต้านการสังหารและการทารุณกรรมสตรีและเด็กผู้หญิง (Taking Actions against Gender-Related Killing of Women and  Girls) ซึ่งเป็นกิจกรรมคู่ขนานระหว่างการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ 68 จัดโดยรัฐบาลไทย โดยคณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก ร่วมกับสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) และสภาวิชาการระบบสหประชาชาติ (ACUNS) ณ กรุงเวียนนา ออสเตรีย เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดี  รวมทั้งปรึกษาหารือเพื่อหาแนวทางที่มีประสิทธิภาพในการยุติการสังหารและทารุณกรรมผู้หญิงสตรีและเด็กผู้หญิงจนถึงแก่ชีวิต  และเพื่อรณรงค์ให้สมัชชาสหประชาชาติรับรองข้อมติว่าด้วยการต่อต้านการสังหารผู้หญิงอันเนื่องมาจากความเป็นเพศหญิงซึ่งได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา (CCPCJ) สมัยที่ 22 เมื่อเดือนเมษายน 2556 มาแล้ว

นอกจากประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศผู้จัดกิจกรรมแล้ว ยังมีออสเตรีย อาร์เจนตินา และนอร์เวย์ เข้าร่วมอุปถัมภ์กิจกรรมคู่ขนานดังกล่าวด้วย

กิจกรรมคู่ขนานว่าด้วยมาตรการต่อต้านการสังหารผู้หญิงอันเนื่องมาจากความเป็นเพศหญิงที่จัดขึ้นนี้ ถือเป็นกิจกรรมสำคัญและมีผู้แทน ระดับสูงของประเทศสมาชิกและหน่วยงานของสหประชาชาติเข้าร่วม  โดยพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทรงทำหน้าที่ เป็นผู้ดำเนินรายการ และมีนางบัน ซุน เทค (Mrs. Ban Soon-Taek) ภริยาของเลขาธิการสหประชาชาติ เป็นผู้กล่าวถ้อยแถลงเปิดงาน

ส่วนผู้ร่วมการอภิปรายต่างก็เป็นผู้แทนระดับสูงจากประเทศต่างๆ รวมถึงหน่วยงานในกรอบสหประชาชาติ ได้แก่ นายแกร์ฮาร์ด ดูยัก (Mr. Gerhard Doujak) อธิบดีกรมสิทธิมนุษยชนและประเด็นเกี่ยวกับชนกลุ่มน้อยกระทรวงกิจการยุโรปและการต่างประเทศ สาธารณรัฐออสเตรีย, นางมาเรีย คริสตินา เพอซีวัล (H.E. Ms. Maria Cristina Perceval) เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรอาร์เจนตินาประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก, นายอีวาน ซิมโมโนวิค (Mr. Ivan Simonovic) ผู้ช่วยเลขาธิการสหประชาชาติด้านสิทธิมนุษยชน และนายจอห์น เฮนดรา(Mr. John Hendra) ผู้ช่วยเลขาธิการสหประชาชาติ และรองผู้อำนวยการบริหารด้านนโยบายและแผนงาน สำนักงานสหประชาชาติ-เพื่อความเท่าเทียมทางเพศและให้อำนาจสตรี

โอกาสนี้ ได้มีพระดำรัสว่าการสังหารและทำร้ายผู้หญิงและเด็กผู้หญิงบนพื้นฐานความไม่เท่าเทียมกันทางเพศเป็นการทำความผิดทางเพศ รูปแบบหนึ่งซึ่งมิใช่เรื่องใหม่ แต่มีความรุนแรงและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั่วโลกจนเป็นที่น่ากังวล สมควรอย่างยิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องจะต้องเร่งแก้ไข และเร่งสร้างความตระหนักรู้ว่าการสังหารสตรีและเด็กผู้หญิงเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ และผู้กระทำความผิดจะต้องถูกลงโทษ นอกจากนี้ยังทรงกล่าวถึงประเทศไทยซึ่งมีนโยบายให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิง การส่งเสริมศักยภาพสตรี และการผลักดันให้มิติทางเพศเป็นประเด็นสำคัญในกรอบงานด้านการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา  โดยเชื่อว่าการจัดการกับปัญหา การทำร้ายสตรีและเด็กผู้หญิงจนถึงแก่ชีวิตนั้นควรดำเนินการอย่างครอบคลุมและเชื่อมโยง ทั้งในมิติการพัฒนา การบังคับใช้กฎหมาย อย่างเข้มงวด การดำเนินนโยบายอาญาซึ่งคำนึงถึงมิติด้านเพศสภาพ การสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชนทุกระดับ และการส่งเสริมสิทธิสตรีด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และการศึกษา

ในปีนี้ ที่ประชุมคณะกรรมาธิการสหประชาชาติว่าด้วยสถานภาพสตรี สมัยที่ 50 ได้มีการหารือเรื่องความรุนแรงต่อสตรี โดยที่ประชุม ได้กล่าวถึงเป็นครั้งแรกถึงความจำเป็นที่นานาประเทศดำเนินการตามกฎหมายกับผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับการสังหารสตรีโดยไม่ปล่อยให้ลอยนวล  นอกจากนี้ ในการประชุมคณะกรรมาธิการว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา หรือ CCPCJ สมัยที่ 22 ณ กรุงเวียนนา เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ที่ประชุมยังได้รับรองข้อมติเรียกร้องให้มีการดำเนินการตามกฎหมายกับผู้กระทำความผิด เกี่ยวเนื่องกับการฆ่าและการทารุณกรรมสตรีจนถึงแก่ชีวิต โดยมีประเทศสมาชิก 29 ประเทศรวมทั้งสหภาพยุโรปร่วมสนับสนุน  โดยเนื้อหาสาระของข้อมติดังกล่าวเน้นถึงความสำคัญของการสร้างความตระหนักรู้และเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ดำเนินมาตรการเพื่อพัฒนากระบวนการยุติธรรมให้สามารถสืบสวน ดำเนินคดี และลงโทษการกระทำที่เป็นการสังหารและทำร้ายสตรีและเด็กผู้หญิงจนถึงแก่ชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญเรื่องการต่อต้านการสังหารผู้หญิงและเด็กหญิง อันเนื่องจากความเป็นเพศหญิง ขึ้นที่กรุงเทพมหานคร ในเดือนพฤศจิกายน 2557 เพื่อนำข้อปฏิบัติที่ดีมาประมวลเป็นข้อเสนอแนะเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพในการป้องกัน สอบสวน ดำเนินคดี และลงโทษผู้กระทำความผิดต่อไป

การสังหารผู้หญิงอันเนื่องมาจากเพศสภาพ (gender-related killings of women) นี้ สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชน-แห่งสหประชาชาติให้คำจำกัดความว่า "การสังหารผู้หญิงและเด็กหญิงซึ่งมีการเลือกปฏิบัติทางเพศเป็นมูลเหตุหรือแรงจูงใจสำคัญและถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง" จนถึงปัจจุบันได้มีผู้บัญญัติศัพท์เช่น Femicide หรือ Feminicide เพื่อนิยามการกระทำดังกล่าว  ตัวอย่างของการสังหารผู้หญิงอันเนื่องมาจากการเลือกปฏิบัติทางเพศที่เห็นได้ชัด ได้แก่ การฆ่าข่มขืน การกระทำรุนแรงต่อผู้หญิงโดยบุคคลใกล้ชิดซึ่งลุกลามถึงขั้นทำให้เสียชีวิต  การบีบคั้นเรียกสินบนจนเป็นเหตุให้ภริยาหรือสะใภ้ถึงแก่ความตาย (dowry killing)          

การสังหารผู้หญิงโดยอ้างเหตุมีพฤติกรรมผิดประเพณี (honor killing) รวมถึงการทำให้สตรีถึงแก่ความตายอันเนื่องมาจากประเพณี ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายต่างๆ ด้วย  การสังหารผู้หญิงในความหมายนี้จะมีความแตกต่างจากการเสียชีวิตของผู้หญิงในกรณีทั่วไป คือมักจะเป็นการกระทำอันเป็นผลลัพธ์สุดท้ายซึ่งมีต้นตอหรือดำเนินต่อเนื่องมาจากการกระทำก่อนหน้าซึ่งถือเป็นการใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิง หรือเป็นการเลือกปฏิบัติทางเพศ แตกต่างไปจากกรณีทั่วไปซึ่งจะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดฝันและไม่มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์อื่น



แหล่งข้อมูล :
http://cpcjalliance.org/ai1ec_event/highlevel-panel-discussion-action-genderrelated-killings-women-girls/?instance_id=280
http://news.ch7.com/detail/47003/พระเจ้าหลานเธอ_พระองค์เจ้าพัชรกิติตยาภา19-10-56.html
http://www2.ohchr.org/english/issues/women/docs/Gender_motivated_killings.pdf
http://www.nhrc.or.th/2012/wb/th/print_content.php?id=21
http://www.mfa.go.th/humanrights/human-rights-conventions

แก้ไขครั้งล่าสุด: 30 ตุลาคม 2556

Back