ยอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ (cookie) เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานและเพิ่มความพึงพอใจต่อการได้รับการเสนอข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตามนโยบายคุกกี้ของเรา

รายละเอียดเพิ่มเติม

เมื่อวันพุธที่ 16 ตุลาคม 2556 พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เสด็จไปทรงร่วมการอภิปรายเรื่อง  “สิทธิมนุษยชน ของผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำ: ชุดเอกสารคู่มือสำหรับการอนุวัติข้อกำหนดกรุงเทพ” (Human Rights of women in prison: A Toolbox to implement the UN Bangkok Rules) ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

การอภิปรายดังกล่าวนี้ ถือเป็นกิจกรรมคู่ขนานในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ 68 โดยมีผู้แทนระดับสูงของประเทศสมาชิก หน่วยงานของสหประชาชาติ และกลุ่มองค์กรที่ทำงานโดยไม่แสวงหากำไร (NGOs) เข้าร่วม ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้น โดยความร่วมมือระหว่างสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) และ Penal Reform International (PRI)

โดยคณะผู้อภิปรายประกอบด้วย นายนรชิต สิงหเสนี เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก, นายอดิศักดิ์ ภาณุพงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ), นางมารี่ เอมอส (Ms. Mari Amos) สมาชิกคณะอนุกรรมการว่าด้วยการป้องกันการทรมานฯ (Member of the UN Subcommittee on the Prevention of Torture and other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment), นางแอนเดรีย ฮูเบอร์ (Ms. Andrea Huber) จาก Penal Reform International, นายแฟรงค์ เอลเบอร์ส ผู้อำนวยการ Human Rights Education Associates (HREA) และนายซีโมน โมนาเซเบียน จากสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC)

การอภิปรายดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อเปิดตัวชุดเอกสารคู่มือสำหรับการอนุวัติข้อกำหนดกรุงเทพ (Toolbox to implement the UN Bangkok Rules) ซึ่งประกอบไปด้วย

  1. เอกสารคู่มือและตัวชี้วัดการอนุวัติข้อกำหนดกรุงเทพฯ ซึ่งจัดทำโดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ร่วมกับ PRI
  2. สื่อการเรียนในระบบออนไลน์เรื่อง “Women in detention: Putting the UN Bangkok Rules into Practice” ซึ่งจัดทำโดย PRI และ Human Rights Education Associates (HREA)


ในการนี้ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ได้ประทานพระดำรัส Keynote Speech เกี่ยวกับความสำคัญของ ข้อกำหนดกรุงเทพฯ และความก้าวหน้าของประเทศไทยในการส่งเสริมการอนุวัติตามข้อกำหนดกรุงเทพด้วย

ประเทศไทย โดยพระดำริในพระเจ้าหลานเธอฯ ได้มีบทบาทนำในการผลักดันข้อกำหนดกรุงเทพ จนสหประชาชาติได้รับรอง ในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ 65 เมื่อปี 2553 และถือเป็นมาตรฐานฉบับแรกในโลกที่ให้ความสำคัญต่อความต้องการเฉพาะด้าน อันเนื่องมาจากเพศสภาพของผู้หญิง

Back
chat